ระบำเชียงแสน

ระบำเชียงแสน เป็นระบำโบราณคดีที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะและโบราณสถานสมัยเชียงแสน และได้แพร่หลายไปทั่วดินแดนภาคเหนือของไทย ซึ่งในสมัยโบราณเรียกว่า "อาณาจักรล้านนา" และต่อมามีนครเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรนั้น ศิลปะแบบเชียงแสนได้แพร่หลายลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขง เข้าไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เรียกว่า "ลานช้าง" หรือ "กรุงศรีสัตนาคนหุต" แล้วแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยทางจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย โดยเหตุนี้ระบำเชียงแสน ตลอดจนดนตรีที่สร้างจังหวะของระบำชุดนี้ จึงมีลีลาและสำเนียงพื้นเมืองเป็นไทยชาวเหนือแบบพื้นเมือง คละเคล้าระคนไปด้วยลีลาและสำเนียงพื้นเมืองของชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปะปนอยู่ด้วย

นาฎยศัพท์ที่ใช้ประกอบการรำ

       อ่อนตัว  เป็นกิริยาการใช้ศีรษะและไหล่ คือ การเอียงศีรษะ แล้วกดไหล่
       กระทายไหล่  คือ กิริยาที่ดึงไหล่ข้างใดข้างหนึ่งมาข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมกับเบี่ยงไหล่อีกข้างหนึ่งไปข้างหลัง
       โยนตัว  เป็นลักษณะการก้าวเท้าไปข้างใดข้างหนึ่ง พร้อมกับถ่ายน้ำหนักตัวไปตามเท้าที่ก้าว และเอียงศีรษะตรงกันข้ามกับเท้าที่ก้าว เมื่อโยนตัวไปแล้วจะคืนตัวกลับ

เครื่องแต่งกาย

๑.  เสื้อ  ตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้สีเหลือง สอดดิ้นเงิน-ทอง มีลักษณะคอแหลม ประดับลูกไม้สีเงินสลับทอง รอบคอลงมาถึงระดับอก ๒ เส้น แขนสั้นเหนือศอก ตัวยาวคลุมสะโพก ชายเสื้อด้านบนติดแถบสีทอง โอบรอบคอลงมาถึงสาบเสื้อด้านหน้า ตลอดจนชายเสื้อ และรอบปลายแขนช่วงไหล่ปักดิ้นโปร่งหนุนลายกนก เป็นลายดอกประจำยามระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง ด้านละ ๑ ดอก
๒.  ผ้านุ่ง  เย็บสำเร็จแบบป้ายข้างไปทางซ้าย ต่อเชิงผ้า นุ่งยาวกรอมเท้า สีเขียวและสีชมพูแก่อย่างละแถว แต่งด้วยขลิบทองลายขวาง ๒ เส้น ด้วยลูกไม้แถบสีทองห่างกันพอประมาณ
๓.  เกลียวไหม  มีเกลียวไหมสำหรับระบายรอบเอว และพู่ห้อยที่เอวด้านหน้า
๔.  เสื้อในนาง  แบบไม่มีแขน สีเนื้อหรือสีเหลือง ดันทรงมีสายเล็กๆ

เครื่องประดับ

๑.  สร้อยคอ
๒.  กำไลข้อมือ
๓.  กำไลข้อเท้า
๔.  ต่างหู
๕.  เข็มขัด
๖.  ขดเงิน

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงระบำเชียงแสน

๑.  ซึง
๒.  สะล้อ
๓.  ตะโพน
๔.  ฆ้องหุ่ย
๕.  ฉิ่ง
๖.   ฉาบ

(รำ ๖ คน แบ่งเป็นสองแถว)

ท่าที่ ๑ จีบ ๒ มือปล่อยตั้งวงหน้า
แถวขวาและแถวซ้าย หันตัวไปทางขวา ก้าวเท้าขวา เอียงขวา เบี่ยงไหล่ขวา มือซ้ายจีบหงายชายพก มือขวาจีบส่งหลัง

ก้าวเท้าซ้าย ปล่อยจีบมาตั้งวงหน้า เอียงซ้าย มือขวาวงสูงกว่ามือซ้าย เบี่ยงไหล่ซ้าย หน้าตรง

แถวขวาและแถวซ้าย หันตัวไปทางซ้าย ก้าวเท้าซ้าย เอียงซ้าย เบี่ยงไหล่ซ้าย มือขวาจีบหงายชายพก มือซ้ายจีบส่งหลัง


ก้าวเท้าขวา ปล่อยจีบมาตั้งวงหน้า เอียงขวา มือซ้ายวงสูงกว่ามือขวา เบี่ยงไหล่ขวา หน้าตรง

ท่าที่ ๒ วงหงายสูง จีบหลัง สลับวงสูง จีบหงายแขนตึง

แถวขวา มือซ้ายสอดจีบแล้วปล่อยเป็นวงหงายสูง มือขวาจีบส่งหลัง

แถวซ้าย มือขวาสอดจีบแล้วปล่อยเป็นวงหงายสูง มือซ้ายจีบส่งหลัง

แถวขวาขยับไหล่ มือซ้ายตั้งวงสูง มือขวาจีบหงายแขนตึง

แถวซ้ายขยับไหล่ มือขวาตั้งวงสูง มือซ้ายจีบหงายแขนตึง
เดินสวนแถว ๑๒ จังหวะ แถวซ้ายขึ้นหน้าก่อน จากนั้นสวนแถวกลับในท่าเดิม โดยแถวซ้ายเดิม ซ้อนหลัง

ท่าที่ ๓ จีบส่งหลังสลับกับตั้งวงหน้า

แถวขวาและแถวซ้ายย่ำเท้าขวาและซ้ายสลับกัน ๓ จังหวะ มือทั้งสองจีบส่งหลัง ลากจีบขึ้นมาปล่อยเป็นวงหน้าในจังหวะที่ ๔ นับเป็นหนึ่งครั้ง ทำเช่นนี้ ๓ ครั้ง ระหว่างรำท่านี้แถวหนึ่งถอยลงหลัง แถวหลังเดินขึ้นหน้า

ท่าที่ ๔ จีบสองมือสลับกับวง

หันหน้าเข้าหากันเป็นวงกลม จังหวะที่ ๑ ก้าวเท้าขวา มือทั้งสองวงกลาง เอียงขวา แล้วก้าวเท้าซ้าย จีบหงายในจังหวะที่ ๒ เอียงซ้าย ก้าวเท้าขวา เดินเวียนไปทางขวา เอียงซ้าย พอถึงจังหวะที่ ๔ มือทั้งสองม้วนจีบปล่อยเป็นวงกลาง รำท่านี้สลับกัน ๔ ครั้ง เดินเวียนกลับทางซ้ายอีก ๔ ครั้ง

ท่าที่ ๕ บัวชูฝักแปลงสลับตั้งวงต่อศอก

แปลแถวแยกเป็นสองวง เดินเวียนทางซ้ายหันไหล่ซ้ายเข้าหากัน มือซ้ายจีบสอดแล้วปล่อยเป็นวงหงายสูง มือขวาจีบคว่ำอยู่ใต้ศอกซ้าย เอียงซ้ายก้าวขวา ก้าวซ้าย แล้วเปลี่ยนมือซ้ายเป็นตั้งวง มือขวาตั้งวงต่อศอกซ้าย ทำเช่นนี้ ๔ ครั้ง

ทำท่าเดิมเช่นนี้อีก ๔ ครั้ง โดยเวียนทางขวา
ท่าที่ ๖ ตั้งวงหน้าต่างระดับ

ก้าวเท้าซ้าย-ขวา เอียงขวา มือซ้ายตั้งวงหน้า มือขวาวงต่ำกว่ามือซ้าย ก้าวเท้าสลับกันตามจังหวะ ๔ ครั้ง

เปลี่ยนเป็นมือขวาวงหน้า มือซ้ายวงต่ำกว่ามือขวา เอียงซ้าย อีก ๔ ครั้ง

ท่าที่ ๗ จีบมือสลับตั้งวง

ตั้งแถวเฉียงคู่ (แถวขวาหันหน้าออกเวที แถวซ้ายหันหน้าเข้าเวที) มือทั้งสองจีบคว่ำ มือขวาจีบหงายด้านข้าง มือซ้ายจีบหงายชายพก เดินควงคู่ ก้าวจังหวะที่สอง มือขวาจะเปลี่ยนเป็นวง ทุกครั้งที่ก้าวเท้าซ้าย มือขวาจะเปลี่ยนเป็นวงสลับจีบหงาย ทำท่านี้ ๔ ครั้ง

หมุนตัวด้านขวา เปลี่ยนเป็นมือขวาจีบหงายชายพก มือซ้ายจีบสลับวงอีก ๔ ครั้ง

ท่าที่ ๘  สวนแถวสลับฟันปลาท่ารำยั่ว
มือขวาตั้งวงมือตะแคงไปข้างหน้าระดับชายพก มือซ้ายจีบส่งหลัง เดินสวนสลับฟันปลา ๔ จังหวะ เปลี่ยนเป็นมือซ้ายตั้งวงตะแคง มือขวาจีบส่งหลัง ทำท่านี้ ๕ ครั้ง

ท่าที่ ๙  สอดสร้อยมาลาแปลงและจีบนั่ง

คนยืน มือขวาตั้งวง มือซ้ายจีบหงายชายพก สลับกับมือขวาจีบหงายชายพก มือซ้ายตั้งวง

คนนั่งทางขวา มือขวาตั้งวง มือซ้ายจีบหงายชายพก คนนั่งทางซ้าย มือซ้ายตั้งวง มือขวาจีบหงายชายพก

หันตัวด้านขวา มือซ้ายจีบหงาย มือขวาตั้งวงระดับชายพก

 

หันตัวด้านซ้าย มือขวาจีบหงาย มือซ้ายตั้งวงระดับชายพก

ท่าที่ ๑๐  สวนแถวเรียงหน้ากระดาน ท่าสอดสูง จีบหลัง

แถวขวา ก้าวเท้าขวาไขว้ มือซ้ายสอดสูง มือขวาจีบส่งหลัง เดินสวนแถว

แถวซ้าย ก้าวเท้าซ้ายไขว้ มือขวาสอดสูง มือซ้ายจีบส่งหลัง เดินสวนแถวไป ๖ ครั้ง กลับ ๖ ครั้ง

ท่าที่ ๑๑  แถวตอนเรียงเดี่ยว ท่ามยุเรศ

หันหน้าตรง มือทั้งสองจีบหงายชายพก ย่ำเท้าซ้าย-ขวา ตามจังหวะ ๔ ครั้ง

ม้วนมือปล่อยจีบ ตั้งวงกลาง

ท่าที่ ๑๒  ท่าจีบโบกสลับข้าง เดินถอยหลังเข้า

มือซ้ายตั้งวง มือขวาจีบส่งหลัง ย่ำเท้าตามจังหวะ ๔ ครั้ง

ม้วนมือขวาไปตั้งวง มือซ้ายจีบส่งหลัง สลับกันทุก ๔ จังหวะ

ท่าที่ ๑๓  ท่าลา

ก้าวเท้าขวาไขว้ มือซ้ายจีบคว่ำข้างลำตัว มือขวาแบหงาย เอียงขวา
แล้วก้าวเท้าซ้ายไขว้ มือซ้ายจีบหงายแขนตึง มือขวาตั้งวงล่าง เอียงซ้าย ยืดยุบเข่า วิ่งเข้าเวทีทางขวา