มหรสพหลวง

        มหรสพของหลวง มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยา เป็นการเล่นในงานสมโภชของหลวง ซึ่งมีอยู่หลายอย่าง แต่ที่มีการฟ้อน
การเต้น การรำ ด้วยนั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ แทงวิไสย รำโคม
        มหรสพในงานสมโภชของหลวงนี้ มีตำนานเรื่องราวสืบต่อมาจนปรากฏอยู่ในกฎมนเทียนบาลบ้าง พงศาวดารและวรรณคดีต่างๆ บ้าง แม้ในการเขียนภาพจิตรกรรมประดับผนังโบสถ์บางแห่ง ก็ยังได้เขียนภาพ การแสดงการเล่นต่างๆ ไว้  การเล่นอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น ก็ยังมี หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง นอนดาบ โยนมีด พุ่งหอก ยิงธนู รำแพน เป็นต้น  ตัวอย่างการการละเล่นของหลวง ได้แก่

ระเบง  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายว่า "...เป็นกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนคร จะไปช่วยโสกัต์ใครก็ไม่ทราบที่เขาไกรลาส บทมีว่า

 

 

โอละพ่อ
โอละพ่อ
เทวดามาบอก
พร้อมกันทั้งปวง
โอละพ่อ
โอละพ่อ
ยกออกจากเมือง
จะไปไกรลาสฯ

        แล้วไปถูกพระกาลห้ามไม่ให้ไป แต่ฉันเข้าใจว่าเป็นพระขันธกุมาร เพราะมีรูปนกยูงซึ่งเป็นพาหนะอยู่ ทั้งพระขันธกุมารก็เกี่ยวข้องกับพระอิศวรซึ่งอยู่ ณ เขาไกรลาส  ถ้าเป็นพระกาลรูปพาหนะจะต้องเป็นนกแสก เมื่อกษัตริย์ทั้งนั้นไม่ฟังห้าม จะยิงเอาพระกาล พระกาลก็สาปให้สลบ เมื่อพอใจแล้วก็ถอนสาปให้ฟื้น พวกกษัตริย์ก็กลับบ้านเมืองเท่านั้น ไปไม่ถึงไกรลาส..."
        ระเบง น่าจะจัดแสดงในงานสมโภชพระราชพิธีโสกันต์ เพราะมีการสร้างเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสจำลองด้วย  โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งพระองค์อย่างเทวดา สมมุติเป็นองค์พระอิศวร ทรงจูงพระกรพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเสด็จขึ้นไกรลาส  การเล่นระเบงมีไม่บ่อยนัก  
สำหรับการแต่งกายของผู้แสดงระเบงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ชาววังฝ่ายใน ซึ่งเป็นสตรีเล่นระเบงเลียนแบบผู้ชาย โดยนุ่งผ้าลายทับสนับเพลา สวมเสื้อผ้ามัสหรู่แขนยาว มีผ้าเข้มขาบไหมคาดเอว ศีรษะสวมเทริดลงรักปิดทอง มือขวาถือลูศร มือซ้ายถือคันธนู มีการตีฆ้องสามใบเถา ซึ่งเรียกว่า ฆ้องระเบง เป็นจังหวะสำหรับการร้องและการรับพร้อมกับยกขาเต้นก้าวเดินตามไปด้วย มือก็ตีลูกศรกับคันธนู
        การเล่นระเบงนี้ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงที่โรงละคร เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ถึง ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยจัดระเบียบเสียใหม่ เป็น ๕ ตอน โดยเชื่อว่า เทวดาที่มาพบนั้น เป็นพระขันธกุมารมากกว่าจะเป็นพระกาล ที่จัดไว้ ๕ ตอน และปรับปรุงเนื้อร้องของเดิมที่พระยาเทวาธิราชถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ไว้ เพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น

กุลาตีไม้  เป็นการเล่นที่มีลักษณะคล้ายกับการเล่นพื้นเมืองของอินเดียใต้ ที่เรียกว่า"ทัณฑรส" มีคำอธิบายของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสาสน์สมเด็จ ว่า
"กุลาตีไม้เป็นของแขกอินเดียแน่ ชื่อกุลาก็บอกอยู่ในตัวแล้ว เกล้ากระหม่อมเคยเห็นรูปตีพิมพ์ของฝรั่ง ซึ่งเขาลอกรูปเขียนในอินเดียมา มีรูปเทวดายืนเป็นวง สองมือถือไม้ประกับ ล้อมอยู่รอบกลอง พอเห็นก็เข้าใจทันทีว่า นี่คือรูปเล่นกุลาตีไม้..."
        การแต่งกายของผู้แสดงกุลาตีไม้ คือ แต่งตัวนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้งทับสนับเพลา สวมเสื้อแขนกระบอก คาดประคดรัดเอวทับเสื้อ ศีรษะสวมเทริด ถือคทารูปคล้ายกระบองทั้งสองมือ ยืนล้อมเป็นวงหันหน้าเข้าหากัน วงหนึ่ง ๖ หรือ ๘ จะมีกี่วงก็ได้ ไม่มีดนตรีอื่นประกอบนอกจากการร้อง ซึ่งมีบทร้องมีลักษณะเป็นโคลง หรือโคลงกระทู้ และอาจเขียนเป็นลักษณะกาพย์ได้ด้วย
        เริ่มแสดงโดยผู้แสดงถวายบังคมตามสัญญาณจากฆ้องโหม่ง ทุกคนร้องเองตามบทร้อง แล้วใช้ไม้ที่ถือตีเข้าจังหวะ มีท่าที่เต้นพร้อมกับการรำอยู่ ๖ ท่า คือ
๑.  นั่งคุกเข่าล้อมเป็นวงหันหน้าเข้าหากัน ตบมือเข้าจังหวะและลอยหน้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ ซ้ายขวาสลับกัน จบบทหนึ่งก็เอาไม้ตีเป็นจังหวะ
๒.  หันตัวไปกึ่งขวาแล้วย่อเข่าก้าวเดินขยับไปเป็นวงกลม ต่างคนต่างเอาไม้เคาะเป็นจังหวะ เดินเข้าจังหวะฆ้องโหม่งและไม้ที่ตี แล้วเดินเวียนกลับมาที่เก่า
๓.  เดินย่อเข่าเวียนขวาแล้วกลับมาทางซ้าย ตีไม้โดยการพลิกขวาตีซ้าย ซ้ายตีขวา สลับกัน
๔.  หันไปตีโต้กันเป็นคู่ๆ โดยหันไปทางคู่ขวาแล้วหันมาทางคู่ซ้ายสลับกัน
๕.   หันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ โดยยืนเป็นวงแล้วยกไม้ตีโต้กันขวาต่อขวา ซ้ายต่อซ้าย และเดินหน้าคนหนึ่ง ถอยหลังคนหนึ่งเป็นคู่ๆ เคลื่อนไปเป็นวงกลม
๖.  เช่นเดียวกับท่าที่ ๕ แต่ตีไม้โต้กันโดยขวาตีขวาสูง ซ้ายตีซ้ายสูง แล้วเปลี่ยนมาเป็นขวาตีขวาต่ำ ซ้ายตีซ้ายต่ำสลับกันไป พร้อมกับเดินเป็นวงกลม จากนั้นก็นั่งลงถวายบังคม