เพลงโหมโรง

        เพลงโหมโรง หมายถึง เพลงที่บรรเลงในอันดับแรกสำหรับงานต่างๆ เพื่อเป็นการประกาศให้รู้ว่า ขณะนี้งานดังกล่าวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว และเป็นการบรรเลงเพื่อเคารพสักการะครูอาจารย์ และอัญเชิญเทพยดามายังสถานมงคลพิธีนั้นด้วย  เพลงโหมโรงแบ่งออกได้หลายลักษณะ ดังนี้

๑.  โหมโรงเช้า  ใช้บรรเลงในงานมงคลพิธีต่างๆ ซึ่งจะมีขึ้นในตอนเช้า เช่น งานที่รู้จักกันเป็นสามัญว่า งานสวดมนต์เย็นฉันเช้า  เพลงที่บรรเลง ได้แก่ สาธุการ  เหาะ  รัว  กลม ชำนาญ 
๒.  โหมโรงกลางวัน  เป็นโหมโรงที่เกิดขึ้นจากประเพณีการแสดงมหรสพในสมัยโบราณ ถ้าเป็นการแสดงกลางวัน ซึ่งได้เริ่มแสดงตั้งแต่เช้ามาแล้ว เมื่อถึงเวลาเที่ยงจะต้องหยุดพักกลางวัน เพื่อให้ตัวละครและผู้บรรเลงดนตรี ตลอดจนผู้ร่วมงานการแสดงนั้น ได้หยุดพักและรับประทานอาหารกลางวัน  โหมโรงกลางวัน ประกอบด้วยเพลง กราวใน  เชิด  ชุบ  ลา  กระบองตัน  เสมอข้ามสมุทร  เชิดฉาน  ปลูกต้นไม้  ชายเรือ  รุกร้น  แผละ  เหาะ 
โล้  วา
๓.  โหมโรงเย็น  เป็นเพลงชุดที่ใช้บรรเลงในตอนเย็นของงาน ในการเริ่มงานมงคลต่างๆ ประกอบด้วยเพลง สาธุการ  ตระโหมโรง  รัวสามลา  ต้นชุบ  เข้าม่าน  ปฐม  ลา  เสมอ  รัว  เชิด  กลม  ชำนาญ  กราวใน  ต้นชุบ
๔.  โหมโรงเสภา  เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการนำเอาปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบการขับเสภา  การโหมโรงเสภาใช้ลักษณะเดียวกันกับโหมโรง ก่อนการแสดงละคร คือ ปี่พาทย์จะบรรเลงหน้าพาทย์ชุดต่างๆ จนกระทั่งถึงเพลงวาแล้วจึงเริ่มการแสดง  ต่อมาเพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ใช้บรรเลง เพลงวา เพลงเดียว จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้เพลงในอัตราสองชั้นและสามชั้นตามความนิยม แต่ก็ยังยึดถือกันว่า ต้องจบด้วยทำนองตอนท้ายของเพลงวา  นอกจากนั้น ยังกำหนดให้บรรเลง เพลงรัว ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า รัวประลองเสภา แล้วจึงบรรเลงเพลงโหมโรง

        ในปัจจุบัน การบรรเลงของวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี ก็ได้นำเอาวิธีการโหมโรงเสภานี้มาใช้ แต่ได้ตัดเพลงรัวประลองเภาออกเสีย เริ่มต้นด้วยเพลงโหมโรง และจบด้วยทำนองท้ายของเพลงวาเหมือนกัน และนิยมใช้บรรเลงกันอย่างแพร่หลายจนทุกวันนี้