นาฏศิลป์ประเทศทิเบต

     ความเป็นมาของนาฏศิลป์ประเทศทิเบตไม่ปรากฏแน่ชัด แต่การร่ายรำจะเกี่ยวพันกับพิธีบวงสรวงเทพเจ้า เซ่นวิญญาณ หรือพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในทิเบต มักจะแสดงเป็นเรื่องราวตามตำนานโบราณที่มีมาแต่อดีต โดยจะแสดงในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในวัด เป็นต้น  ในการแสดงจะมีการร่ายรำตามจังหวะเสียงดนตรี ผู้แสดงจะสวมหน้ากาก สมมตินามตามเรื่องราวที่บ่งบอกไว้ และผู้แสดงต้องฝึกมาเป็นพิเศษ  หากเกิดผิดพลาดจะทำให้ความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีขาดไป  พิธีที่สำคัญ เช่น พิธีลาซัม เป็นพิธีบูชายัญที่จัดขึ้นในบริเวณหน้าวัด เนื่องในงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พิธีนี้ตามความเชื่อถืออันเก่าแก่เป็นการบูชายัญด้วยมนุษย์ ซึ่งมีการฝึกฝนและเริ่มดำเนินการมาจากในราชสำนัก  การกระทำพิธีต้องดำเนินต่อเนื่องกัน 2 วัน พิธีดังกล่าวนี้อาจพูดได้ว่าเป็นการร่ายรำบูชายัญด้วยการเล่นแบบโขน และเต้นรำสวมหน้ากาก ตรงกลางที่แสดงจะมีรูปปั้นมนุษย์ทำด้วยแป้งข้าวบาร์เลย์ กระดาษ หรือหนังยัค (วัวที่มีขนดก)  การทำพิธีบูชายัญถือว่าเป็นการทำให้ภูตผีปีศาจ หรือกำจัดความชั่วร้ายที่ผ่านมาในปีเก่า เพื่อเริ่มชีวิตในปีใหม่ที่จะมาถึงด้วยความสุขสดชื่น

     ในการแสดงจะมีผู้ร่วมแสดง 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งสวมหมวกทรงสูง ซึ่งเรียกชื่อว่า นักเต้นหมวกดำ และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวละครที่ต้องสวมหน้ากาก  กลุ่มที่สวมหน้ากากก็มีผู้ที่แสดงเป็นพญายม (เทพเจ้าแห่งความตาย) ซึ่งสวมหน้ากากเป็นรูปหัววัวมีเขา  ผู้แสดงเป็นวิญญาณของปีศาจก็จะสวมหน้ากากรูปหัวกะโหลก เป็นต้น  ตัวละครจะแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมอย่างดีจากจีน

     การร่ายรำหรือการแสดงละครในงานพิธีอื่นๆ มักจะเป็นการแสดงเรื่องราวตามตำนานพุทธประวัติ ตำนานความเป็นมาของศาสนาดั้งเดิมกับศาสนาพุทธ เกียรติประวัติของผู้นำศาสนาพุทธในทิเบต ตำนานวีรบุรุษ วีรสตรี ตลอดจนกระทั่ง นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ในอดีต  การแสดงดังกล่าว เป็นที่นิยมของชาวทิเบตโดยทั่วไป ต่างถือกันว่า หากใครได้ชมก็พลอยได้รับกุศลผลบุญในพิธี หรือมีความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง  ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า เป็นการชมด้วยความเคารพ เลื่อมใส ดังนั้น หากมีการแสดงดังกล่าว ไม่ว่าจะจัดขึ้นที่ไหน เมื่อใด ก็มักจะพากันเดินทางเป็นเวลาหลายวันเข้าไปในเมือง และไปกางเต็นท์รอบๆ บริเวณที่จะจัดการแสดง เพื่อคอยชมกันล่วงหน้านับเป็นเวลานานๆ